Last updated: 14 เม.ย 2563 | 12903 จำนวนผู้เข้าชม |
วันที่ 9 พย. 61 ผู้ป่วยมาด้วยอาการปวดต้นคอ-บ่า-ไหล่ ปวดลงสะบัก แขนซ้ายหนักและ ปวดตื้อไปตามแนวนิ้วโป้ง นิ้วมือชา หมุนคอลำบาก มีอาการเรื้อรังมาร่วม 20 กว่าปี รักษามาอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งทำกายภาพบำบัดดึงคออย่างต่อเนื่อง แต่ไม่เห็นผล หลังการตรวจร่างกายที่บุญบัวคลินิก พบว่ากระดูกคอมีตำแหน่งผิดจากแนวปกติ และมีอาการพ้องกับภาวะเส้นประสาทช่วงกระดูกคอถูกกดทับ ไม่ใช่อาการทางกล้ามเนื้อแบบออฟฟิศซินโดรม แต่เป็นอาการเจ็บปวดทางระบบประสาท จึงสั่งทำ MRI ถึงได้พบสาเหตุของอาการ คือกระดูกคอสูญเสียความโค้งอย่างมาก (straightening of cervical alignment) หมอนรองกระดูกคอระหว่างข้อ C5 C6 ด้านซ้ายปลิ้นกดทับเส้นประสาทที่วิ่งลงแขนตามแนวนิ้วโป้ง (pinched nerve)
ภาวะกระดูกผิดรูปลักษณะนี้ไม่ปกติแน่นอน แสดงว่าต้องได้รับการกระแทกจากด้านหน้าอย่างแรง เมื่อสอบประวัติเพิ่มเติมผู้ป่วยจึงนึกขึ้นได้ว่าเมื่อ 30 ปีที่แล้วเคยขี่รถมอเตอร์ไซด์แล้วเผลอไปมองข้างทางไม่ทันระวังท่อนไม้ไผ่ที่เขาเอามากั้นเป็นประตูรั้วชั่วคราว เมื่อหันมาจึงไม่ทันเบรคท่อนไม้ไผ่นั้นฟาดเข้าที่ลูกกระเดือกอย่างจัง แม้จะล้มลงแต่ก็ไม่เป็นอะไรมาก ขับรถกลับบ้านตามปกติ คิดว่าไม่มีแผลคงไม่มีอะไรกระทบกระเทือนมาตลอด จนกระทั่งมีอาการลักษณะคล้ายออฟฟิสซินโดรมในเวลาต่อมา เนื่องจากประกอบกับทำงานกับคอมพิวเตอร์ด้วย จึงนึกว่าตนเองเป็นโรคดังกล่าว
หลังจากได้ทำการรักษาครั้งแรกด้วยการปรับกล้ามเนื้อข้างที่แข็งเกร็งให้อ่อนตัว แพทย์จึงทำการค่อยๆดัดข้อต่อคออย่างนุ่มนวลเพื่อคืนความโค้งของกระดูกคอ (lordotic curve)ให้กลับคืนมา ด้วยการทำหัตถเวช หลังจากทำครั้งแรก ผู้ป่วยได้องศาคอกลับมาถึง 60% และได้รายงานเข้ามาว่า หลังจากนวดรักษาครั้งแรกกลับไป อาการปวดหนักที่แขนหายแล้ว ไม่มีอาการชามือ และได้มีการรักษาต่อครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 พย. เพื่อปรับกระดูกคอต่อ ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องการจะเลี่ยงการผ่าตัดกระดูกคอ
เนื่องจากผู้ป่วยอยู่ในภาวะไม่สมดุลมา 30 ปี กล้ามเนื้อเอ็นและพังผืดรัดข้อกระดูกคอค่อนข้างแน่นหนา จึงอาจจะใช้เวลาบ้าง แต่ก็จะดีขึ้นและเป็นปกติในที่สุด ทั้งนี้ควรทำตามข้อแนะนำที่แพทย์ให้กลับไปทำ เช่นท่ายืด ปรับกระดูก สารอาหารต่างๆที่ร่างกายกำลังต้องการในการช่วยรักษา เป็นต้น